ต้นแพงพวยน้ำ มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค โดยจัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยหรือไม้ล้มลุกที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีลำต้นทอดยาวไปตามผิวน้ำหรือบนดินเหลว มีความสูงของต้นประมาณ 30-60 เซนติเมตร ลำต้นไม่มีขนปกคลุม ลำต้นเรียบเป็นสีเขียวอมสีแดงเล็กน้อย ลักษณะอวบน้ำ เป็นรูปกลม เป็นข้อปุ่ม ตามข้อของลำต้นจะมีรากแก้วเป็นฝอยและมีปุ่มที่ช่วยในการพยุงตัว ทำให้สามารถลอยน้ำได้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการแยกลำต้นปลูก มักขึ้นบนดินโคลนตามข้างทาง ทุ่งนา หรือตามห้วย หนอง คลองบึงต่าง ๆ (ในช่วงที่น้ำในนาและหนองบึงแห้งแล้ง ต้นแพงพวยน้ําก็ยังคงอยู่ได้ แม้ต้นจะแคระแกร็นและแข็ง นับว่าเป็นต้นไม้ที่มีความทนทานมากชนิดหนึ่ง)
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้แพงพวยน้ำ เป็นยาสมุนไพรควรคำนึงถึงความปลอดภัย และความระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้แพงพวยน้ำเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
ประโยชน์ของแพงพวยน้ำ
ยอดอ่อน ใบอ่อน และลำต้นอ่อนของแพงพวยน้ํา นำมาลวกให้สุกแล้วนำมาทำยำ จิ้มกินกับน้ำพริก หรือใช้ประกอบอาหารได้ เช่น แกงส้ม ฯลฯ โดยคุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วยพลังงาน 38 แคลอรี, น้ำ 87%, โปรตีน 3.3 กรัม, ไขมัน 4.8 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 4.8 กรัม, ใยอาหาร 3.3 กรัม, เถ้า 1 กรัม, วิตามินเอ 9,875 หน่วยสากล, วิตามินบี2 0.01 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 2.8 มิลลิกรัม, วิตามินซี 3 มิลลิกรัม, แคลเซียม 57 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 300 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัมชาวบ้านจะใช้ลำต้นผสมกับกะปิ เติมน้ำเล็กน้อย แล้วนำไปให้วัวควายกินเป็นยารักษาโรคปากเปื่อยและเท้าเปื่อย ใช้ปลูกเป็นไม้น้ำประดับทั่วไปตามแหล่งน้ำ หรือใช้ประดับในอ่างเลี้ยงปลา สวนหย่อม สามารถออกดอกได้ตลอดปี