มะอึก,ต้นมะอึก,ใบมะอึก

มะอึก

มะอึก เป็นพืชสวนครัวที่นิยมรับประทานและมีการเพาะปลูกอย่างแพร่หลายทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักไม่นิยมปลูกเพื่อเป็นการค้าสักเท่าไหร่ จึงไม่พบเห็นได้บ่อยเท่ามะแว้งและมะเขือพวง จึงอาจกล่าวได้ว่ามะอึกเป็นมะเขือป่าที่เป็นลูกครึ่งอยู่ระหว่างมะเขือพวงกับมะแว้งนั่นเอง โดยเราจะนิยมใช้ผลแก่หรือผลสุกเต็มที่รับประทานเป็นผักแกล้มหรือจิ้มกับน้ำพริกต่าง ๆ ให้รสชาติเฝื่อนเล็กน้อยอร่อยมาก หรือจะใช้เปลือกผลเอาเมล็ดทิ้งแล้วหั่นเป็นฝอย ๆ ใช้โขลกรวมกับน้ำพริกกะปิเพื่อเพิ่มรสชาติก็ดีไม่น้อย หรือจะหั่นเป็นชิ้นทั้งเมล็ดใส่รวมกับส้มตำก็ได้เหมือนกัน

สรรพคุณของมะอึก

รากมะอึกมีรสเย็นและเปรี้ยวเล็กน้อย ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย (ราก) ช่วยกัดเสมหะ ขับฟอกเสมหะในลำคอ (ผล) ช่วยลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้ไข้สันนิบาต (ราก) ช่วยแก้อาการไอ (ผล) ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ราก) ช่วยแก้ปอดบวม (ใบ) ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เมล็ดนำมาเผาแล้วสูดดมควันเข้าไป (เมล็ด) ขนของผลมะอึกสามารถนำมาทอดกับไข่เพื่อช่วยขับพยาธิได้ (ขน) รากช่วยแก้ปวด (ราก) ช่วยแก้ดีพิการ แก้โทษเพื่อน้ำดี (ผล) รากแก้น้ำดีพิการ (ราก) ช่วยแก้ดีฝ่อ ดีกระตุก หรืออาการนอนสะดุ้ง ผวา เพ้อ ชนิดหลับ ๆ ตื่น ๆ ซึ่งสาเหตุมาจากโทษน้ำดีกระทำ (ราก) ใบใช้เป็นยาพอก แก้อาการคัน ผดผื่นคัน หรือจะใช้ดอกนำมาตำแล้วพอกก็ได้เช่นกัน (ใบ, ราก, ดอก) ใบใช้ตำแก้พิษฝี (ใบ) ช่วยกระทุ้งพิษไข้หัวทุกชนิด หรืออาการของไข้ที่มีตุ่มออกเป็นผื่นตามผิวหนัง เช่น เหือด หิด หัด อีสุกอีใส เป็นต้น (ราก)

ประโยชน์ของมะอึก

ผลใช้รับประทานเป็นอาหาร หรือนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผลอ่อนหรือผลสุก เช่น การนำมาทำเป็นน้ำพริกมะอึก แกงส้มกับหมูย่าง หรือใส่ส้มตำ แกงเนื้อ แกงปลาย่าง เป็นต้น ช่วยเพิ่มรสชาติเปรี้ยวให้อาหาร โดยจะให้รสและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เป็นพิเศษ ซึ่งแตกต่างไปจากรสเปรี้ยวจากแหล่งอื่น ๆ อย่างเช่น มะนาว มะม่วง มะขาม มะดัน เป็นต้น การรับประทานผลมะอึกจะช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายได้ และยังมีธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี ฯลฯ ที่ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น ช่วยล่อนกให้มาเยี่ยมเยียนบ่อย ๆ เพราะผลมะอึกเป็นอาหารโปรดของมัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*
*

BACK TO TOP